การเกิดสุริยุปราคา


การเกิดสุริยุปราคา
สุริยุปราคา (Solar Eclipse) หรือสุริยคราส เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ เกิดจากการที่ดวงจันทร์โคจรผ่านระหว่างดวงอาทิตย์และโลกในเวลากลางวัน ทำให้เรามองเห็นดวงอาทิตย์ค่อย ๆ เว้าแหว่งไป จนกระทั่งดวงจันทร์บดบังดวงอาทิตย์ไว้ทั้งหมด เวลานั้นแม้เป็นกลางวันแต่โลกก็จะมืดลงไปชั่วขณะ และเมื่อดวงจันทร์ผ่านพ้นไป ดวงอาทิตย์ก็จะกลับมาส่องสว่างอีกครั้ง ดังนั้น การเกิดสุริยุปราคาจึงเป็นปรากฏการณ์ที่ต้องประกอบไปด้วยดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และโลก เรียงตัวอยู่ในระนาบเดียวกัน ตามลำดับ ซึ่งแตกต่างจากจันทรุปราคาที่เป็นปรากฏการณ์ที่ดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์ เรียงตัวอยู่ในระนาบเดียวกัน ตามลำดับ
ดวงอาทิตย์ เป็นดาวฤกษ์ขนาดใหญ่ซึ่งเป็นศูนย์กลางของระบบสุริยะ เส้นผ่านศูนย์กลางของมันมีขนาด 14 ล้านกิโลเมตร ใหญ่กว่าโลก 109 เท่า และใหญ่กว่าดวงจันทร์ถึง 400 เท่า โดยปกติดวงอาทิตย์มีระยะทางห่างจากโลกเฉลี่ย 150 ล้านกิโลเมตร
ดวงจันทร์ เป็นดาวบริวารของโลก มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 3,474 กิโลเมตร มีระยะห่างจากโลกโดยเฉลี่ย 384,400 กิโลเมตร มีแกนเอียง 6.68 องศา และใช้เวลาประมาณ 1 เดือนในการโคจรรอบโลก 1 รอบ
โลก เป็นดาวเคราะห์ลำดับที่ 3 (จากดวงอาทิตย์) ในระบบสุริยะ มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 12,742 กิโลเมตร และมีแกนเอียง 23.45 องศา
แม้ว่าดวงจันทร์จะมีขนาดเล็กกว่าดวงอาทิตย์ถึงประมาณ 400 เท่า แต่ระยะทางจากโลกถึงดวงจันทร์ก็ใกล้กว่าระยะทางจากโลกถึงดวงอาทิตย์ถึง 400 เท่าเช่นกัน ดังนั้น เมื่อมองจากโลกแล้ว ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์จึงดูเหมือนจะมีขนาดใกล้เคียงกัน ทำให้ขณะที่ดวงจันทร์เคลื่อนเข้ามาบดบังดวงอาทิตย์เมื่อเกิดสุริยุปราคา จึงสามารถซ้อนทับกันได้เกือบพอดี
ช่วงการเกิดสุริยุปราคา
เนื่องจากดวงจันทร์และโลกไม่ได้โคจรอยู่ในระนาบเดียวกันแต่โคจรอยู่ในระนาบที่แตกต่างกันประมาณ 5 องศา ดังนั้น การเกิดสุริยุปราคาซึ่งเกิดจากการเรียงตัวของดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และโลกในระนาบเดียวกัน จึงไม่ได้เกิดขึ้นให้เห็นได้บ่อยครั้งนัก อาจเกิดขึ้น 2 ครั้งต่อปีหรือมากที่สุดไม่เกิน 5 ครั้ง โดยปกติแล้วสุริยุปราคาจะเกิดขึ้นเฉพาะในวันแรม 15 ค่ำ และเกิดในช่วงใกล้เคียงกับจันทรุปราคาที่จะเกิดขึ้นในวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ
ในการเกิดสุริยุปราคาแต่ละครั้งมีระยะเวลาที่ไม่แน่นอน ขึ้นกับปัจจัยหลายประการ เช่น ระยะห่างจากโลกถึงดวงอาทิตย์ในช่วงที่เกิด ความเร็วในการโคจรของดวงจันทร์ (หากดวงจันทร์อยู่ใกล้โลกจะมีการเคลื่อนที่ที่เร็วขึ้น) นอกจากนี้ยังขึ้นกับพื้นที่ที่มองเห็นการเกิดสุริยุปราคาด้วย
เงาของดวงจันทร์
เมื่อดวงจันทร์โคจรมาบดบังดวงอาทิตย์ทั้งหมดไว้จะทำให้เกิดเงา 2 ชนิด คือ เงามืดและเงามัว
- เงามืด (Umbra) เป็นเงาส่วนที่มืดที่สุด ซึ่งเกิดขึ้นในบริเวณที่อยู่ตรงกับดวงจันทร์
- เงามัว (Penumbra) เป็นเงาส่วนที่ยังมีแสงสลัว โดยเงามัวนี้จะอยู่รอบ ๆ เงามืดอีกที
ประเภทของสุริยุปราคา
ไม่ใช่ทุกครั้งของการเกิดสุริยุปราคา ที่ดวงจันทร์จะเข้าบดบังดวงอาทิตย์ไว้ทั้งหมด เพราะในบางครั้งของการเกิดสุริยุปราคา ดวงจันทร์ก็เข้าบดบังดวงอาทิตย์เพียงบางส่วนเท่านั้น เนื่องจากระนาบของดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และโลก ไม่ได้ซ้อนกันพอดี ดังนั้น จึงแบ่งสุริยุปราคาออกได้เป็น 3 ประเภท
1. สุริยุปราคาเต็มดวง (Total Solar Eclipse) เกิดขึ้นเมื่อดวงจันทร์โคจรมาอยู่ระหว่างดวงอาทิตย์และโลกในระนาบเดียวกัน และบดบังดวงอาทิตย์ไว้ทั้งหมด ทำให้เกิดเงามืด และบริเวณที่เกิดเงามืดจะคล้ายกับเวลากลางคืน โดยในการเกิดแต่ละครั้งมีเพียงบางพื้นที่เท่านั้นที่จะสามารถเห็นสุริยุปราคาเต็มดวงได้

2. สุริยุปราคาวงแหวน (Annular Solar Eclipse) เกิดขึ้นในลักษณะคล้ายสุริยุปราคาเต็มดวง แต่เนื่องจากเรามองเห็นดวงจันทร์ในขณะนั้นมีขนาดเล็กกว่าดวงอาทิตย์ จึงยังเหลือขอบของดวงอาทิตย์ให้เห็นเป็นแสงสว่างได้
3. สุริยุปราคาบางส่วน (Partial Solar Eclipse) เกิดขึ้นเมื่อดวงจันทร์โคจรมาอยู่ระหว่างดวงอาทิตย์และโลก แต่ไม่ได้อยู่ในระนาบเดียวกันโดยสมบูรณ์ ดวงจันทร์จึงบดบังดวงอาทิตย์เพียงบางส่วนเท่านั้น เราจึงเห็นดวงอาทิตย์ในลักษณะเป็นเสี้ยว
อ้างอิง : https://www.trueplookpanya.com/knowledge/content/65565/-blo-sciear-sci-

ความคิดเห็น